12.มารู้จักมลรัฐต่าง ๆ ของอเมริกาสักหน่อยดีไหม(1): รายชื่อมลรัฐ จำนวนส.ส. และขนาดพื้นที่

ตอนแทรกคั่นกลาง

เล่าแบบสี่มิติ(การเมืองการปกครอง การบริหาร กฎหมาย และวิดีโอ)

(นำออกเผยแพร่เป็นตอนแรกของปี 2020 ประจำปักษ์แรก 1-15 มกราคม 2563

นำออกเผยแพร่วันที 1 มกราคม 2020)

            โดยเหตุที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศรัฐรวมและมีขนาดใหญ่ ประกอบด้วย รัฐใหญ่หรือรัฐบาลกลางหนึ่งรัฐ รัฐเล็กหรือมลรัฐ จำนวน 50 มลรัฐ แต่ละมลรัฐมีขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และจำนวนสมาชิกสภาคองเกรสแตกต่างกัน ดังนั้น หากท่านทราบข้อมูลดังกล่าวของแต่ละมลรัฐ ก็น่าจะช่วยให้ท่านมีความเข้าใจในเรื่องเล่าตอนต่าง ๆ ของ เล่าเรื่องรัฐธรรมนูญอเมริกา ได้ง่ายเข้า

            ประกอบกับเห็นว่า เรื่องเล่าตอนที่ 11  ตอนที่ 11/1 ตอนที่11/2 และตอนที่ 11/3 ว่าด้วยสภาคองเกรส  อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านรู้สึกเครียดบ้าง

            ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอนำเสนอ ตอนแทรกคั่นกลางคือ ตอน 12-14 มารู้จักมลรัฐต่าง ๆ ของอเมริกาสักหน่อยดีไหม  เพื่อให้ท่านผู้อ่านรู้สึกผ่อนคลายก่อนที่จะนำเสนอตอนว่าด้วยประธานาธิบดี

ควรจะรู้จักมลรัฐต่าง ๆ ของอเมริกาในเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง

          ผมคิดว่า ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบข้อมูลบางอย่างของแต่ละมลรัฐ  เพื่อที่จะสามารถทำความเข้าใจในการอ่าน เล่าเรื่องรัฐธรรมนูญอเมริกา ในแต่ละตอนได้ง่ายเข้า

            ถ้าเช่นนั้น เรามากำหนดหัวข้อเกี่ยวกับมลรัฐต่าง ๆ ของอเมริกาที่ควรทราบดีไหม

            หัวข้อ เกี่ยวกับมลรัฐต่าง ของอเมริกาที่ควรจะทราบ มีดังนี้

            – รายชื่อมลรัฐ

           

            – ขนาดพื้นที่ของมลรัฐ

            – เมื่อหลวงหรือเมืองสำคัญของมลรัฐ

            – จำนวนประชากร จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจำนวนสมาชิกคองเกรส

            – มลรัฐที่น่าสนใจเป็นพิเศษ

มารู้จักรายชื่อมลรัฐทั้งห้าสิบมลรัฐ

ก่อนจะรู้จักมลรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา ท่านผู้อ่านควรจะทราบว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศสาธารณรัฐที่เป็นรัฐรวม ( Federal Republic) ประกอบด้วยมลรัฐ 50 มลรัฐ (States) เขตพิเศษ (Federal District) หนึ่งเขต ซึ่งหมายถึง กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ดินแดนใหญ่ ๆ (Major Territories) จำนวน 5 แห่ง และเกาะ เล็ก ๆ อีกเป็นจำนวนมาก มลรัฐจำนวน 48 มลรัฐตั้งอยู่บนทวีปอเมริกาเหนือระหว่างประเทศ เม็กซิโกและแคนาดา ส่วนอีกสองมลรัฐ คือ อลาสกาตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดของแคนาดาและช่องแคบเบริง (Bering Strait ) ซึ่งอยู่ติดกับเขตแดนของรัสเซีย และมลรัฐฮาวายตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังมีดินแดนกระจายอยู่ทั่วมหาสมุทรแฟซิฟิก (Pacific Ocean) และทะเลแคริบเบียน (Caribbean Sea)

จะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกามีอยู่ 2 มลรัฐที่ไม่ได้มีอาณาเขตติดต่อกับผืนแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐอเมริกา นั่นคือมลรัฐอลาสกา และมลรัฐฮาวายดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีดินแดนที่ไม่ได้ขึ้นต่อมลรัฐใด ๆ แต่เป็นดินแดนที่ขึันต่อรัฐบาลกลาง (Federal District) กล่าวคือ นอกจาก เขตพิเศษโคลัมเบีย หรือกรุงวอชิงตัน ยังมีดินแดนอีก 5 แห่งที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง คือ อเมริกาซามัว (American Samoa) เกาะกวม (Guam) หมู่เกาะมาริอานาเหนือ (Northern Mariana Islands) ปัวเตอริโก (Puerto Rico) และหมู่เกาะเวอร์จินของอเมริกา (U.S. Virgin Islands)

                การที่จะให้ท่านผู้อ่านจดจำรายชื่อมลรัฐของอเมริกาทั้งห้าสิบมลรัฐได้นั้นอาจจะไม่ง่าย  แต่ผมคิดว่า หากท่านผู้อ่านพอจะจดจำรายชื่อมลรัฐดังกล่าวได้บ้าง ก็น่าจะเป็นการดี

(Wikipedia, List of states and territories of the United States, 31st December 2019)

            มีวิธีหนึ่งที่น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านพอจะจดจำรายชื่อมลรัฐดังกล่าวได้ง่ายเข้า คือ การจดจำ ตัวอักษรตัวแรกของชื่อมลรัฐ  โดยผมได้จัดกลุ่มมลรัฐตามอักษรตัวแรกของชื่อมลรัฐ พร้อมกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละมลรัฐในวงเล็บ*  แบ่งออกเป็น 19 กลุ่ม   

*จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละมลรัฐจะมีเท่าใด ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของประชากร โดยจะมีการสำรวจสำมะโนประชากรใหม่ทุก 10 ปี (Each decennial census)

            จำนวนสมาชิกสภาราษฎรของสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศมีจำนวนคงที่หลังปีค.ศ.1910 คือ จำนวน 435 คน ยกเว้นในช่วงปีค.ศ.1959 ได้มีการรับมลรัฐอลาสกา และฮาวาย เข้ามาเป็นมลรัฐใหม่ จึงให้เพิ่มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็น 437 คน เป็นการชั่วคราว

(Encyclopedia Britannica, United States House of Representatives Seats by State, 23th December 2019)

          รายชื่อมลรัฐของสหรัฐอเมริกา แบ่งออกเป็นกลุ่มตามอักษรตัวแรกของชื่อมลรัฐ

          1.A = 4: Alabama (7), Alaska (1), Arizona (9) and Arkansas (4)

            2.C = 3: California (53), Colorado (7), Connecticut (5)

            3. D = 1: Delaware (1)

            4.F   = 1: Florida (27)

            5.G = 1: Georgia (14)

            6.H = 1: Hawaii (1)

            7.I = 4: Idaho (2), Illinois (18), Indiana (9) and Iowa (4)

            8.K = 2: Kansas (4) and Kentucky (6)

            9.L =1: Louisiana (6)

            10.M = 8 Maine (2), Maryland (8), Massachusetts (9), Michigan (14), Minnesota (8), Mississippi (4), Missouri (8) and Montana (1)

            11.N =8: Nebraska (3), Nevada (4), New Hampshire (2), New Jersey (12), New Mexico), New York (27), North Carolina (13) and North Dakota (1)

            12. =3: Ohio (16), Oklahoma (5) and Orgon (5)

            13.P = 1: Pennsylvania (18)

            14.R =1: Rhode Island (2)

            15.S = 2: South Carolina (7) and South Dakota (1)

            16.T = 2: Tennessee (9) and Texas (36)

            17. U =1: Utah (4)

            18. V = 2: Vermont (1) and Virginia (11)

            19. W = 4: Washington (10), West Virginia (3), Wisconsin (8) and Wyoming (1)

ท่านผู้อ่านคงพอจะสังเกตได้ว่า กลุ่มมลรัฐที่มีตัวอักษรตัวแรก เป็นตัว M และ N มีจำนวนมากที่สุด มีกลุ่มละ 8 มลรัฐ

สำหรับมลรัฐขนาดใหญ่ที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก ได้แก่ มลรัฐคาลิฟอร์เนียมี 53 คน มลรัฐเท็กซัส มี 36 คน มลรัฐฟลอริดา และมลรัฐนิวยอร์คมีแห่งละ 27 คน มลรัฐอิลลินอยส์ และมลรัฐเพนซิลเวเนีย มีแห่งละ 18 คน

นอกจากนี้ ท่านผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นได้ว่า มีมลรัฐที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพียง    มลรัฐละ 1 คน จำนวน 8 มลรัฐ คือ Alaska, Delaware, Hawaii, Montana, North Carolina, South Dakota, Vermont และ Wyoming

จำนวนสมาชิกสภาคองเกรส หาไม่ยากเลย

        เมื่อท่านผู้อ่านทราบจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละมลรัฐแล้ว หากอยากทราบว่ามลรัฐนั้นมีจำนวนสมาชิกสภาคองเกรสเท่าใด ก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแต่เอาจำนวนสมาชิกวุฒิสภาซึ่งทุกมลรัฐมีจำนวนเท่ากัน คือ มลรัฐละ 2 คน บวกเข้าไปก็จะเป็นจำนวนสมาชิกสภาคองเกรสของมลรัฐนั้น

     อย่างเช่น มลรัฐคาลิฟอร์เนีย มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 53 คน มีสมาชิกวุฒิสภา 2 คน ดังนั้น จึงมีจำนวนสมาชิกสภาคองเกรส 55 คน

มารู้จักขนาดพื้นที่ของมลรัฐ

                หลังจากรู้จักชื่อมลรัฐแล้ว ลำดับต่อไป ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบว่า มลรัฐใดมีพื้นที่มากน้อยเพียงใดมลรัฐใดมีพื้นที่มากที่สุด   มลรัฐที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าขนาดพื้นที่ประเทศไทยมีหรือไม่  และมลรัฐใดที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุด

            สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองลงมาจากรัสเซีย และแคนาดา  คือมีพื้นที่ 9,629,091 ตร.กม. ในขณะที่แคนาดามีพื้นที่ 9,984,670 ตร.กม. และจีนซึ่งมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกมีพื้นที่ 9,596,961*

* ขณะนี้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ของจีนและอเมริกาได้เปลี่ยนแปลงตัวเลขใหม่ เป็น จีนมีพื้นที่ 9,706,961 ตร.กม. ส่วนอเมริกามีพื้นที่ 9,373,610 ตร.กม เป็นผลทำให้จีนเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่เลื่อนขึ้นเป็นอันดับสามของโลก ส่วนอเมริกามีขนาดพื้นที่หล่นลงมาเป็นที่สี่ของโลก เป็นการสลับตำแหน่งกัน (Worldometers, Largest Countries in the World by Area, 4th January 2020)

          ในบรรดา 50 มลรัฐดังกล่าว มลรัฐที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

          อันดับหนึ่ง มลรัฐอลาสกา (Alaska) มีพื้นที่ 1,723,337 ตร.กม.

          อันดับสอง มลรัฐเท็กซัส (Texas) มีพื้นที่ 695,662 ตร.กม.

            อันดับสาม มลรัฐคาลิฟอร์เนีย (California) มีพื้นที่ 423,697 ตร.กม.

            อันดับสี่ มลรัฐมอนตานา (Montana) มีพื้นที่ 380,831 ตร.กม.

            อันดับห้า มลรัฐนิวเม็กซิโก (New Mexico) มีพื้นที่ 314,917 ตร.กม.

            ท่านผู้อ่านคงพอจะทราบว่า ประเทศไทยของเรามีพื้นที่ทั้งหมด ราว 513,120 ตร.กม. ดังนั้น มลรัฐของอเมริกาที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยจึงมีอยู่ 2 มลรัฐ คือ มลรัฐอลาสกา และมลรัฐเท็กซัส

            ท่านคงจะสงสัยต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้น มลรัฐที่มีขนาดพื้นที่พอ ๆ กับประเทศอาเซียนของเราบางประเทศอย่างพม่าหรือเมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีไหม

            ถ้าเช่นนั้น เราต้องทราบข้อมูลขนาดพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านของเราก่อน

            พม่าหรือเมียนมา มีขาดพื้นที่ 676, 578 ตร.กม. ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับมลรัฐเท็กซัส

            เวียดนาม มีขนาดพื้นที่ 331,210 ตร.กม. มาเลเซียมีขนาดพื้นที่ 329,847 และฟิลิปปินส์มีขนาดพื้นที่ 300,000 ตร.กม. ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงมลรัฐมอนตานา และมลรัฐนิว เม็กซิโก

          ส่วนมลรัฐที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุด 5 อันดับสุดท้าย คือ

          อันดับหนึ่ง มลรัฐโรด ไอส์แลนด์ (Rhode Island) มีพื้นที่เพียง 4,001 ตร.กม.

            อันดับสอง มลรัฐเดลาแวร์ (Delaware) มีพื้นที่เพียง 6,446 ตร.กม.

            อันดับสาม มลรัฐคอนเน็คติกัต (Connecticut) มีพื้นที่ 14,357 ตร.กม.

อันดับสี่ มลรัฐนิว เจอร์ซี (New Jersey) มีพื้นที่ 22,591 ตร.กม.

            อันดับห้า มลรัฐเวอร์มองต์ (Vermont) มีพื้นที่ 24,906 ตร.กม.

          ท่านผู้อ่านคงพอจะมองเห็นได้ว่า มลรัฐที่มีพื้นที่ขนาดเล็กที่สุดทั้งห้ามลรัฐ หากจะเปรียบเทียบกับพื้นที่จังหวัดในประเทศไทยแล้ว มีอยู่หลายจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับขนาดพื้นที่ของมลรัฐโรด ไอส์แลนด์ และมลรัฐเดลาแวร์ เช่น กาฬสินธุ์  อุทัยธานี สุโขทัย แพร่ ประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี พะเยา เพชรบุรี และจังหวัดอื่น ๆ อีกรวมเป็น 37 จังหวัด (หมายถึงจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 28-61 ตามวิกิพีเดีย, รายชื่อจังหวัดของประเทศไทยเรียงตามพื้นที่, 31 ธันวาคม 2562)

. ในกลุ่มจังหวัดดังกล่าว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่มากที่สุด คือ 6,946.746 ตร.กม. ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่น้อยที่สุดในกลุ่มนี้ คือจังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ 3,027.280 ตร.กม.

            หรืออาจจะเปรียบเทียบกับขนาดพื้นที่ของประเทศในกลุ่มอาเซียนของเราอย่างบรูไน มีขนาดพื้นที่ 5,770 ตร.กม. ซึ่งเป็นขนาดพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัลป์มลรัฐโรด ไอส์แลนด์ และมลรัฐเดลาแวร์

            เท่าที่ได้เล่ามาเกี่ยวกับขนาดพื้นที่ของมลรัฐต่าง ๆ ของอเมริกาดังกล่าวข้างต้น คงจะพอทำให้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพขนาดพื้นที่แสดงความเล็กใหญ่ของมลรัฐต่าง ๆ ของอเมริกาได้ตามสมควร

          อย่างไรก็ตาม แม้บางมลรัฐอาจมีพื้นที่ไม่มาก แต่ก็ยังมีฐานะเป็นมลรัฐแห่งหนึ่งของอเมริกาเช่นเดียวกับหลายมลรัฐทีมีพื้นที่ขนาดใหญ่

คุยกับคุณอมรินทร์เสียหน่อยดีไหม

            “ คุณอมรินทร์คิดว่า คนไทยมีความเข้าใจในคำว่า มลรัฐของอเมริกา มากน้อยเพียงใด” ผมเปิดประเด็นถามเบา ๆ

            “ ผมคิดว่า คนไทยมักจะเข้าใจว่า มลรัฐหนึ่งของอเมริกาก็คือคล้าย ๆ กับจังหวัดหนึ่งของเรา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน” คุณอมรินทร์ระบายความในใจออกมา

            “ เข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างไรเหรอ ขอคำอธิบายนิดหนึ่ง ” ผมอดซักต่อไม่ได้

           ” การมีรัฐรวมหรือรัฐใหญ่ซ้อนอยู่บนรัฐเล็กหลาย ๆ รัฐ ผมอยากให้มองดูภาพของการมีทางต่างระดับโดยมีทางด่วนที่สร้างขึ้นใหม่คร่อมอยู่เหนือทางที่มีอยู่เดิม  แม้อาจจะไม่ใช่มีความหมายอย่างเดียวกัน ก็น่าจะพอนำมาเป็นภาพเปรียบเทียบได้ ” คุณอมรินทร์ค่อย ๆ อธิบาย ราวกับเกรงว่าผมจะไม่เข้าใจ

            “ ส่วนจังหวัดของไทยเรานี่ เป็นหน่วยการปกครองขนาดรองของประเทศ ที่รัฐไทยออกกฎหมายจัดตั้งขึ้นมา ไม่มีอำนาจอธิปไตย เพราะอำนาจอธิปไตย เป็นของรัฐไทยแต่แห่งเดียว ” คุณอมรินทร์ขยายความต่อโดยไม่รอผมสอบถาม

            “ ถ้าเช่นนั้น กรณีจังหวัดของไทยเรา รัฐสามารถออกกฎหมาย จัดตั้ง เปลี่ยนแปลงเขต หรือยุบเมื่อใดก็ได้ จริงไหม” ผมลองถามในเชิงเสนอความเห็นบ้างเล็กน้อย

            “ ใช่ ผิดกับมลรัฐของอเมริกา รัฐบาลกลาง จะไม่สามารถออกกฎหมายจัดตั้ง เปลี่ยนแปลงเขตหรือยุบได้ เพราะแต่ละมลรัฐยังมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองอยู่ในส่วนที่อยู่นอกเหนืออำนาจของรัฐบาลกลาง ” คุณอมรินทร์ตอบสั้น ๆ

            คำว่า มลรัฐ(State) ของสหรัฐอเมริกา ยังมีฐานะเป็นรัฐหรือดินแดนอิสระเหมือนอย่างที่เคยเป็นก่อนจะยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐรวมที่เรียกชื่อว่า สหรัฐอเมริกา  ผิดกับคำว่า จังหวัด (Province) ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานปกครองระดับรองของประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวอย่างประเทศไทย เป็นต้น

            หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สหรัฐอเมริกาประกอบด้วยประเทศใหญ่ (United States)หนึ่งประเทศ และประเทศเล็ก (State)อีก 50 ประเทศ

            การศึกษาหาข้อมูลของมลรัฐต่าง ๆ ในอเมริกา จึงคล้าย ๆ กับการศึกษาหาข้อมูลของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจมีความคล้ายคลึงกันในหลายเรื่อง และอาจแตกต่างกันในบางเรื่อง

พบกันใหม่วันที่ 16 มกราคม 2563

13 คิดบน “12.มารู้จักมลรัฐต่าง ๆ ของอเมริกาสักหน่อยดีไหม(1): รายชื่อมลรัฐ จำนวนส.ส. และขนาดพื้นที่

  1. ผศ. ดร. กาญจนา พันธ์ุเอี่ยม

    มารู้จักมลรัฐต่าง ๆ ของอเมริกา เป็นส่งท้ายปีเก่า ที่ได้ความรู้อย่างยิ่งเลยคะ จังหวัดที่เราอาศัยอยู่ มีขนาดพื้นที่ลำดับที่ห้าเหมือนกันคะ

    ถูกใจ

    1. ขอบคุณ ท่านผศ.ดร.กาญจนาเป็นอย่างมากที่กรุณาแสดงความเห็นให้กำลังใจ ขอเชิญท่านอาจารย์ติชมได้เรื่อย ๆ นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

      ถูกใจ

  2. หลังจากได้อ่านบทความของอ.ชาตรีที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความคิดเชิงนามธรรมว่า
    1. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างแน่นอน แต่การเป็นกฎหมายสูงสุดต้องมีเป้าหมายสุงสุดร่วมกันในหมู่ประชาชน(และมลรัฐต่างๆของอเมริกา)
    2. มาตราต่างๆในรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นไปบรรลุเป้าหมายสูงสุดดั่งกล่าว การตีความและการบังคับใช้รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปเพื่อเป้าหมายสูงสุดดั่งกล่าวหรือไม่ขัดแย้ง
    แต่ที่ผมอยากจะได้คำชี้แนะจาก อ.ชาตรีก็คือ อะไรคือเป้าหมายสูงสุดร่วมกันของประชนและมลรัฐของอเมริกาที่ยึดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นเครื่องมื่อแก้ไขความขัดแย้งในสังคมทุกยุคทุกสมัยของอเมริกา
    ขอบคุณครับ
    กอบชัย ฉิมกุล

    ถูกใจ

    1. ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณ คุณกอบชัยที่กรุณาแสดงความคิดเห็นเข้ามา สำหรับคำถามที่ว่า อะไรคือเป้าหมายสูงสุดร่วมกันของประชาชนและมลรัฐของอเมริกาที่ยึดถือติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน คือ อุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ เสรีภาพ (Liberty) ลัทธิปัจเจกชนนิยม (Individualism) ความเท่าเทียม(Equality) และการปกครองตนเอง (Self-Government) ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองดังกล่าว ทำให้รัฐธรรมนูญอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญของการมีรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด (Limetd Government) เป็นรัฐของประชาชน (Republic) มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน รายละเอียดศึกษาเพิ่มเติมได้ในตอนที่ 5 ของเล่าเรื่องรัฐธรรมนูญอเมริกา

      ถูกใจ

    2. ขอเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญอเมริกา คือ การถ่วงดุลอำนาจระหว่างสภาคองเกรส ประธานาธิบดี และศาลสูง อย่างเช่นในขณะนี้ สภาคองเกรสกำลังใช้อำนาจตรวจสอบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการใช้อำนาจในการสอบสวนเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง (Impeachment) ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวของสภาคองเกรสจะส่งผลทำให้ประธานาธิบดีไม่สามารถทำอะไรตามใจตนเองได้</p
      นอกจากนี้ยังมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับมลรัฐด้วย โดยรัฐบาลกลางจะมีอำนาจได้เท่าที่มลรัฐยินยอมมอบให้ตามรัฐธรรมนูญของอเมริกาเท่านั้น

      ถูกใจ

ใส่ความเห็น