ตอนที่ 39 การอภัยโทษ ทหารกองหนุน และการบริหารงานนักโทษ

ฉบับประจำปักษ์แรกของเดือนพฤษภาคม 2564

ในตอนที่แล้ว คือ ตอนที่  38 ได้เล่าถึงฝ่ายตุลาการของมลรัฐคาลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นหนึ่งแขนงของการใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญของมลรัฐ สำหรับตอนที่ 39 นี้จะเล่าถึงการใช้อำนาจในการให้อภัยโทษ ทหารกองหนุน และการดูแลนักโทษ ตามรัฐธรรมนูญของมลรัฐคาลิฟอร์เนีย

1.ความนำ

          ในตอนที่แล้ว คือ ตอนที่ 38 ได้เล่าถึงฝ่ายตุลาการของมลรัฐคาลิฟอร์เนีย ซึ่งประกอบด้วยศาลสูง ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น

            สำหรับตอนที่ 39 นี้ จะกล่าวถึงการให้อภัยโทษ ทหารกองหนุน และการดูแลนักโทษ ตามรัฐธรรมนูญมลรัฐคาลิฟอร์เนีย

2.การอภัยโทษ

          หลังจากศาลได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยคนใดได้กระทำความผิดทางอาญาจริงและจะต้องรับโทษตามกฎหมาย ก็มิได้หมายความว่า ผู้นั้น จะต้องได้รับโทษทางอาญาตามกฎหมายตามคำพิพากษาเสมอไป เพราะรัฐธรรมนูญ ฯ ได้กำหนดให้มีการอภัยโทษได้ 

            การอภัยโทษ อาจเป็นการยกโทษให้ทั้งหมด หรืออาจจะเป็นการลดโทษจากหนักให้เป็นเบา กล่าวโดยทั่วไป ผู้มีอำนาจในการให้อภัยโทษได้ คือประมุขของรัฐ อย่างเช่น ราชอาณาจักรไทย พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการอภัยโทษให้แก่นักโทษในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น เนื่องในพระราชพิธีปราบดาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น

          สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ผู้มีอำนาจในการให้อภัยโทษให้แก่ผู้ต้องคำพิพากษาให้ได้รับโทษทางอาญา  คือประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา     

กรณีมลรัฐคาลิฟอร์เนีย รัฐธรรมนูญ ฯ  กำหนดให้ผู้ว่าการมลรัฐคาลิฟอร์เนีย มีอำนาจในการให้อภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษาให้ได้รับโทษทางอาญา

            ขอบเขตอำนาจในการให้อภัยโทษของผู้ว่าการมลรัฐคาลิฟอร์เนีย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 7 สรุปได้ดังนี้

          2.1 ผู้ว่ามลรัฐ อาจให้อภัยโทษด้วยยกโทษให้ การบรรเทาโทษประหารชีวิต และการลดหย่อนโทษตามคำพิพากษา สำหรับการกระทำความผิดทุกอย่าง ยกเว้นโทษฐานเป็นกบฏ และโทษจากการถูกสอบสวนเอาออกจากตำแหน่ง

            2.2 สำหรับโทษฐานเป็นกบฏ ผู้ว่าการมลรัฐมีอำนาจในการเลื่อนเวลาการประหารชีวิตตามคำพิพากษา (commutation of sentence) ออกไป จนกว่าจะมีการรายงานกระทำผิดดังกล่าวไปยังสภานิติบัญญัติของมลรัฐในการประชุมครั้งต่อไป หรือไม่ก็อาจเลื่อนการลงโทษประหารชีวิตออกไปก่อน

            ในการแจ้งให้สภานิติบัญญัติในตอนเริ่มต้นสมัยประชุมทุกครั้ง ในคดีที่มีการเลื่อนการประหารชีวิตหรือการอภัยโทษ ผู้ว่าการมลรัฐ จะต้องระบุชื่อนักโทษ ความผิดที่ได้กระทำ คำพิพากษา และเหตุผลประกอบ

            2.3 ผู้ว่าการมลรัฐ และสภานิติบัญญัติ ไม่มีอำนาจลดหย่อนโทษ หรืออภัยโทษให้แก่ผู้กระทำผิดซ้ำสองครั้งในคดีอาชญากรรมร้ายแรง เว้นแต่เสียงช้างมากของคำตัดสินของศาลสูงจะได้แสดงความเห็นไว้

         ความเห็นเพิ่มเติม

          หลังจากศาลได้มีคำพิพากษาว่า นักโทษคนใดได้กระทำความผิดทางอาญาและต้องรับโทษตามกฎหมาย ผู้ว่าการมลรัฐ มีอำนาจในการอภัยโทษหรือลดหย่อนโทษให้ได้ตามกฎเกณฑ์ ยกเว้นความผิดฐานเป็นกบฏ หรือความผิดที่ถูกสอบสวนเพื่อถอดถอนเอาออกจากตำแหน่ง

            กรณีเป็นความผิดฐานเป็นกบฏ การพิจารณาให้อภัยโทษหรือลดหย่อนโทษเป็นอำนาจร่วมกันของผู้ว่าการมลรัฐและสภานิติบัญญัติของมลรัฐ โดยผู้ว่าการมลรัฐจะเป็นฝ่ายเสนอความเห็นไปยังสภานิติบัญญัติของมลรัฐ

            แต่ถ้านักโทษที่มีคำพิพากษาลงโทษเพราะกระทำความผิดทางอาญาร้ายแรงซ้ำสองครั้ง ผู้ว่าการมลรัฐและสภานิติบัญญัติมลรัฐไม่มีอำนาจให้อภัยโทษและลดหย่อนโทษ

3.ทหารกองหนุน (Militia)

ทหารกองหนุน (militia)
ทหารกองหนุน (militia)

          ในระบบรัฐรวม รัฐบาลกลางเป็นผู้มีอำนาจในการจัดตั้งกองทัพของประเทศ ซึ่งเป็นทหารกองประจำการหรือทหารอาชีพ แต่ก็มิได้หมายความว่า มลรัฐไม่ได้อำนาจใด ๆ เกี่ยวกับทหาร เพราะมลรัฐจะเป็นผู้อำนาจในการดูแลทหารกองหนุนไว้เป็นกำลังสำรองของประเทศ

          ตามรัฐธรรมนูญของมลรัฐคาลิฟอร์เนีย มาตรา 8 สภานิติบัญญัติแห่งมลรัฐ มีอำนาจออกกฎหมายจัดตั้งทหารกองหนุน (militia) เท่าที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้และรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา โดยเจ้าหน้าที่ทหารกองหนุนอาจจะได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งตามระยะเวลาที่กำหนดและให้ขึ้นตรงต่อผู้ว่าการมลรัฐ  และผู้ว่าการมลรัฐมีอำนาจในการสั่งใช้ทหารกองหนุนในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของมลรัฐ เพื่อปราบปรามการก่อจลาจล และขับไล่ผู้รุกราน

          ความเห็นเพิ่มเติม

            ปกติผู้ว่าการมลรัฐจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งใช้ทหารกองหนุน ยกเว้นมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ของประเทศสหรัฐอเมริกามาตรา 2 อนุมาตรา 2 อำนาจดังกล่าวจะเป็นของประธานาธิบดีอเมริกา

4.การบริหารงานนักโทษหรือผู้ต้องขัง

          หลังจากศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาให้ได้รับโทษจำคุกแล้วก็ดี หรืออยู่ในระหว่างการฝากขังของศาลก่อนที่จะมีคำพิพากษาก็ดี นักโทษเหล่านี้ จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำภายใต้การควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์

            เพื่อเป็นหลักประกันว่า นักโทษหรือผู้ต้องขังเหล่านั้น จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี รัฐธรรมนูญของมลรัฐคาลิฟอร์เนีย จึงได้นำเรื่องการบริหารนักโทษหรือผู้ต้องขังไปกำหนดไว้ด้วย

            ตามมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญของมลรัฐคาลิฟอร์เนีย ได้กล่าวถึงการบริหารงานนักโทษหรือผู้ต้องขังไว้ความว่า ให้มีคณะกรรมการมลรัฐในการดูแลนักโทษ (State Board of Prison Directors) จำนวน 5 คน ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าการมลรัฐ ภายใต้ความยินยอมของวุฒิสภาของ               มลรัฐ ดำรงตำแหน่งในวาระ 10 ปี แต่ผู้ว่าการมลรัฐ มีอำนาจที่จะถอดถอน กรรมการดังกล่าวคนใดคนหนึ่งออกจากตำแหน่งได้ หากพบว่ามีการะทำความผิด หรือไร้ความสามารถ หรือละทิ้งหน้าที่

            คณะกรรมการมลรัฐในการดูแลนักโทษ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลนักโทษของมลรัฐ รวมทั้งมีอำนาจในการแต่งตั้งพัสดีเรือนจำ (warden) และเจ้าหน้าที่ประจำเรือนจำ

            ความเห็นเพิ่มเติม

          การที่รัฐธรรมนูญมลรัฐคาลิฟอร์เนียให้ความสำคัญแก่การดูแลนักโทษหรือผู้ต้องขัง ถึงกับเอาเรื่องการบริหารนักโทษหรือผู้ต้องขังไปกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ฯ แสดงให้เห็นว่า นักโทษหรือผู้ต้องขังทั้งหลายจะได้รับการดูแลจามลรัฐเป็นอย่างดี ภายใต้แนวคิดที่ว่า เรือนจำไม่ใช่สถานที่ลงโทษเพื่อการแก้แค้น แต่เรือนจำคือสถานที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดเกิดความรู้สึกสำนึกผิดและคิดจะออกไปเป็นพลเมืองดี ภายหลังได้พ้นโทษไปแล้ว จะได้ไม่ออกไปกระทำความผิดซ้ำให้เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมอีก

5. สรุป

          ตามรัฐธรรมนูญของมลรัฐคาลิฟอร์เนีย อำนาจในการให้อภัยโทษ เป็นของผู้ว่าการมลรัฐ ยกเว้นความผิดฐานเป็นกบฏ เป็นอำนาจร่วมกันของผู้ว่าการมลรัฐ และสภานิติบัญญัติมลรัฐ

            ผู้ว่าการมลรัฐเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งใช้ทหารกองหนุนของมลรัฐ

            รัฐธรรมนูญของมลรัฐคาลิฟอร์เนียให้ความสำคัญในการบริหารงานนักโทษหรือผู้ต้องขัง โดยให้อำนาจผู้ว่าการมลรัฐในการแต่งตั้งคณะกรรมการมลรัฐในการบริหารงานนักโทษหรือผู้ต้องขัง จำนวน 5 คน

                                               2/05/21

ใส่ความเห็น